วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

ประเพณีของบุรีรัมย์

ประเพณีของบุรีรัมย์
       ประเพณีแข่งเรือยาวจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นงานประเพณีประจำปี กำหนดจัดในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลากในลำน้ำมูล ชาวเรือบุรีรัมย์และจากจังหวัดต่าง ๆ มาร่วมชุมนุมประลองฝีพายที่สนามแข่งเรือหน้าที่ว่าการอำเภอสตึก เพื่อแข่งขันความเป็นเจ้ายุทธจักรแห่งลำน้ำมูล ในแต่ละปีมีจำนวนเรือเข้าแข่งไม่น้อยกว่า 40-50 ลำ และยังมีขบวนเรือตกแต่งแฟนซีงดงามด้วย
ประเพณีแข่งเรือยาวที่สนามแห่งนี้ เดิมเป็นประเพณีท้องถิ่นสังสรรค์กันในหมู่ญาติมิตรและสักการะเจ้าพ่อวังกรุด ซึ่งเป็นชื่อวังน้ำวนช่วงหนึ่งของแม่น้ำมูล ต่อมาได้จัดเป็นงานประเพณีของจังหวัดตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา
     งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นศาสนสถานในลัทธิพราหมณ์และได้รับการแปลงเป็นพุทธสถานในสมัยหลัง ช่วงที่ถูกทิ้งร้างอยู่มีผู้นำพระพุทธบาทจำลองไปประดิษฐานไว้ที่ปรางค์น้อยบนเขา กลายเป็นประเพณีของชาวบ้านรอบ ๆ บริเวณนั้นพากันขึ้นไปนมัสการปิดทองรอยพระพุทธบาทนี้รวมทั้งไหว้พระทำบุญในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี เนื่องจากปราสาทหินพนมรุ้งเป็นโบราณสถานที่ยี่งใหญ่สวยงามและเป็นประเพณีแต่เดิมอยู่แล้ว จังหวัดจึงได้ส่งเสริมให้มีงานประเพณีในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนเมษายน โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมโบราณ ได้แก่ ขบวนแห่ราชประเพณีขอมโบราณ การแสดงแสง-เสียงย้อนรอยอดีตพนมรุ้ง และการแสดงระเบิดภูเขาไฟจำลอง
     งานมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวหรือย่างเข้าสู่ฤดูหนาวมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดแรง คนชนบทก็พากันทำว่าวแอก ซึ่งมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเล่นกันทุกหมู่บ้าน เป็นประเพณีการละเล่นของท้องถิ่นอีสานแต่นานมา
บุรีรัมย์จัดมหกรรมว่าวอีสานขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2529 เพื่ออนุรักษ์เอกลักษณ์ของอีสานใต้ให้คงอยู่และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง เปิดโอกาสให้คนทุกตำบล ทุกหมู่บ้านทำว่าวแอกมาแข่งขันชิงรางวัลกัน ว่าวที่นำมาเข้าแข่งขันต้องมีขนาดปีกกว้าง 2 เมตรครึ่งขึ้นไป ตัดสินกันที่ความสวยงาม เสียงแอก และลีลาของว่าวบนท้องฟ้า นอกจากนี้มีการประกวดขบวนแห่ว่าวที่ยิ่งใหญ่สวยงาม ตอนค่ำมีมหรสพ การละเล่น และการแสดงสินค้าพื้นบ้าน
งานมหกรรมว่าวอีสานจัดขึ้นที่สนามกีฬาจังหวัดอำเภอห้วยราชในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนธันวาคมของทุกปี
     งานนมัสการพระเจ้าใหญ่ที่วัดหงษ์ (วัดศีรษะแรด) อำเภอพุทไธสง ในวันขึ้น 14 ค่ำถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ทุกปีเป็นเทศกาลนมัสการปิดทองพระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของบุรีรัมย์ มีการทำบุญไหว้พระและมีมหรสพต่าง ๆ มากมาย รวม 3 วัน
    งานนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง ที่เขากระโดง อำเภอเมือง จัดงานในวันเพ็ญเดือน 3 เช่นกัน ประชาชนจะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลองและพระสุภัทรบพิตร ตลอดจนเที่ยวงานกันอย่างคับคั่ง

 
ประเพณีแข่งเรือยาว
 


ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง



 มหกรรมว่าวอีสาน

ประวัติศาสตร์จังหวัดบุรีรัมย์

                           ประวัติศาสตร์ จังหวัดบุรีรัมย์

        บุรีรัมย์ เมืองแห่งความรื่นรมย์ตามความหมายของชื่อเมือง เป็นเมืองแห่งปราสาทหิน ดินแดนแห่งอารยธรรมขอมโบราณ ตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพฯโดยทางรถยนต์ประมาณ 410 กิโลเมตร จังหวัดบุรีรัมย์มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 10,321 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 23 อำเภอ คือ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ นางรอง ลำปลายมาศ ประโคนชัย พุทไธสง สตึก กระสัง บ้านกรวด คูเมือง ละหานทราย หนองกี่ ปะคำ นาโพธิ์ หนองหงส์ พลับพลาชัย ห้วยราช โนนสุวรรณ เฉลิมพระเกียรติ ชำนิ โนนดินแดง บ้านกรวด ละหานทราย บ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอแคนดง และอำเภอบ้านด่าน

      ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี เกี่ยวกับการอยู่อาศัยของมนุษย์ มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และที่สำคัญที่สุด คือ ปราสาทขอมน้อยใหญ่กว่า 60 แห่ง ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไป อันแสดงถึงความรุ่งเรืองของบุรีรัมย์ มาแต่ครั้งอดีตกาล รวมทั้งได้พบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ คือ เตาเผาภาชนะดินเผาสมัยขอม กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-18


       หลังจากสมัยของวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณแล้ว หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของบุรีรัมย์เริ่มมีขึ้นอีกครั้ง ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเป็นเมืองขึ้นของนครราชสีมา และปรากฏชื่อต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยบุรีรัมย์มีฐานะเป็นเมืองๆ หนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคใหม่ จึงได้เปลี่ยนเป็นจังหวัดบุรีรัมย์มาจนถึงปัจจุบันนี้

สถานที่ทองเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมย์

    

        วนอุทยานเขากระโดง ห่างจากอำเภอเมือง 6 กิโลเมตร บนเส้นทางสาย บุรีรัมย์-ประโคนชัย (ทางหลวงหมายเลข 219) เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟโบราณ ซึ่งยังคงปรากฏร่องรอยปากปล่องให้เห็นได้ชัดเจน ปากปล่องภูเขาไฟมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลึก มีน้ำขังตลอดปี ยอดสูงสุดประมาณ 265 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นที่ประดิษฐาน “พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์และมีปรางค์กู่โบราณ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง วนอุทยานนี้มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองน่าศึกษาหลายชนิด การเดินทางขึ้นไปยังเขากระโดงสามารถทำได้สองวิธี คือ เดินขึ้นบันได หรือขับรถขึ้นไปถึงยอดเขาระหว่างทางจะพบพระพุทธรูปปางต่างๆ เรียงรายอยู่เป็นระยะ 



       อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และสวนนกบุรีรัมย์ อยู่ห่างจากตัวเมือง 12 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย (ทางหลวงหมายเลข 219) ในท้องที่ตำบลสะแกซำ กำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเมื่อปี 2535 จากการสำรวจพบว่าในแต่ละปีมีนกชนิดต่างๆ มาอาศัยอยู่โดยรอบจำนวนกว่า 100 ชนิด โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายน จะมีฝูงนกมาอาศัยอยู่มากเป็นพิเศษ บางชนิดใกล้สูญพันธุ์และหาดูได้ยาก เช่น นกเป็ดหงส์ นกเป็ดก่า และนกกาบบัว
   อ่างเก็บน้ำกระโดง ตั้งอยู่ด้านหน้าของเขากระโดง จากทางเข้าเขากระโดงมีทางแยกซ้ายมือ ไปทางเดียวกับค่ายลูกเสือ “บุญญานุศาสตร์” และสวนสัตว์ บริเวณริมอ่างเก็บน้ำเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ดีแห่งหนึ่ง จากจุดนี้สามารถมองเห็นองค์พระสุภัทรบพิตรบนยอดเขากระโดงได้
     
      เขื่อนลำนางรอง ตั้งอยู่แยกจากอนุสาวรีย์เราสู้ไป 200 เมตร เป็นพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงตามพระราชดำริ เขื่อนลำนางรองเป็นเขื่อนดิน มีถนนลาดยางบนสันเขื่อนสำหรับชมทัศนียภาพ และมีร้านอาหารที่ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำ นอกจากเขื่อนนี้จะเก็บน้ำไว้ใช้ในด้านการเกษตรแล้ว ยังได้รับการปรับปรุงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีบ้านพักรับรอง ห้องประชุม และค่ายพักแรม ติดต่อสำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง ซึ่งอยู่ก่อนถึงสันเขื่อนในเวลาราชการ โทร. 0 4460 6336 ในบริเวณเดียวกันยังมีโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป (ดอยคำ) ผลิตผักผลไม้กระป๋องอาทิ ข้าวโพดอ่อน หน่อไม้ และน้ำมะเขือเทศ


     อ่างเก็บน้ำทุ่งแหลม ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 24 ห่างจากอำเภอนางรอง 4 กิโลเมตร ระหว่างทางไปปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เป็นจุดแวะพักริมทาง มีศาลาริมน้ำรับลมเย็นสบาย และในฤดูแล้งมีฝูงนกเป็ดน้ำจำนวนมากมายอาศัยอยู่ที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ด้วย




      อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญ คือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร (คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ภูเขาใหญ่”) ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น 


     ปราสาทหินเมืองต่ำ ตั้งอยู่ที่ตำบลจระเข้มาก ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้ง 8 กิโลเมตร เส้นทางลาดยางตลอด เป็นปราสาทขอมที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามโดดเด่นน่าชมอีกแห่งหนึ่งของบุรีรัมย์
ประวัติความเป็นมาของปราสาทเมืองต่ำยังไม่ทราบชัด เพราะไม่พบหลักฐานที่แน่นอนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด หรือใครเป็นผู้สร้าง มีลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวน ซึ่งมีอายุอยู่ในราว พ.ศ. 1550-1625 โดยมีลักษณะของศิลปะขอมแบบคลัง ซึ่งมีอายุราว พ.ศ. 1508-1555 ปะปนอยู่ด้วย ภาพสลักส่วนใหญ่เป็นภาพเทพในศาสนาฮินดู จึงอาจกล่าวได้ว่า ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-17 เพื่อใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู 

 

     ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ ตั้งอยู่ภายในสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ถนนจิระ เป็นสถานที่รวบรวมจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุอันมีค่าทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจ และเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัย นิทรรศการที่จัดแสดงมีหลากหลายหัวข้อ อาทิ นิทรรศการเกี่ยวกับช้าง ชาวส่วย ผ้าพื้นเมือง จิตรกรรมฝาผนัง เครื่องถ้วยและเตาเผาโบราณ วิถีชีวิตชาวอีสาน สภาพภูมิศาสตร์ ชุมชนโบราณของบุรีรัมย์

 

     อนุสาวรีย์เราสู้ อยู่ที่อำเภอโนนดินแดง ริมทางสายละหานทราย-ตาพระยา (ทางหลวงหมายเลข 348) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของประชาชน ตำรวจ ทหาร ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้ผู้ก่อการร้าย ที่ขัดขวางการสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์สายนี้ 

 

    พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางสมาธิขนาดหน้าตัก 1.6 เมตร สูง 2 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง มีลักษณะของศิลปะพื้นเมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดหงษ์ หรือวัดศีรษะแรด เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบพระพิมพ์รูปใบขนุน “รวมปาง” สำริด และพระพุทธรูปแกะสลักจากนอแรดที่ใต้ฐาน พระเจ้าใหญ่ด้วย ในวันขึ้น 14 ค่ำ หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะจัดงานเฉลิมฉลองขึ้น โดยมีชาวอำเภอพุทไธสง และจังหวัดต่างๆ ไปนมัสการกราบไหว้เป็นจำนวนมาก

 

     วัดเขาอังคาร ตั้งอยู่บนเขาอังคารซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว อยู่ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้งไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร จากบุรีรัมย์ใช้เส้นทางสาย บุรีรัมย์-นางรอง-บ้านตะโก-บ้านตาเป็ก (ทางเดียวกับไปปราสาทหินพนมรุ้ง) เมื่อเดินทางถึงบ้านตาเป็ก เลี้ยวขวาตามทางไปอำเภอละหานทรายประมาณ 13 กิโลเมตร จะพบทางแยกขวาไปวัดเขาอังคารอีก 7 กิโลเมตร ภายในบริเวณวัดเคยมีการค้นพบโบราณสถานเก่าแก่ และใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีหลายชิ้น ปัจจุบันเป็นวัดที่สวยงามใหญ่โตแห่งหนึ่งของบุรีรัมย์ มีการก่อสร้างโบสถ์ ศาลาและอาคารต่างๆ เลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบ ภายในโบสถ์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษด้วย