วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

สถานที่ทองเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมย์

    

        วนอุทยานเขากระโดง ห่างจากอำเภอเมือง 6 กิโลเมตร บนเส้นทางสาย บุรีรัมย์-ประโคนชัย (ทางหลวงหมายเลข 219) เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟโบราณ ซึ่งยังคงปรากฏร่องรอยปากปล่องให้เห็นได้ชัดเจน ปากปล่องภูเขาไฟมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลึก มีน้ำขังตลอดปี ยอดสูงสุดประมาณ 265 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นที่ประดิษฐาน “พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์และมีปรางค์กู่โบราณ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง วนอุทยานนี้มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองน่าศึกษาหลายชนิด การเดินทางขึ้นไปยังเขากระโดงสามารถทำได้สองวิธี คือ เดินขึ้นบันได หรือขับรถขึ้นไปถึงยอดเขาระหว่างทางจะพบพระพุทธรูปปางต่างๆ เรียงรายอยู่เป็นระยะ 



       อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และสวนนกบุรีรัมย์ อยู่ห่างจากตัวเมือง 12 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย (ทางหลวงหมายเลข 219) ในท้องที่ตำบลสะแกซำ กำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเมื่อปี 2535 จากการสำรวจพบว่าในแต่ละปีมีนกชนิดต่างๆ มาอาศัยอยู่โดยรอบจำนวนกว่า 100 ชนิด โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายน จะมีฝูงนกมาอาศัยอยู่มากเป็นพิเศษ บางชนิดใกล้สูญพันธุ์และหาดูได้ยาก เช่น นกเป็ดหงส์ นกเป็ดก่า และนกกาบบัว
   อ่างเก็บน้ำกระโดง ตั้งอยู่ด้านหน้าของเขากระโดง จากทางเข้าเขากระโดงมีทางแยกซ้ายมือ ไปทางเดียวกับค่ายลูกเสือ “บุญญานุศาสตร์” และสวนสัตว์ บริเวณริมอ่างเก็บน้ำเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ดีแห่งหนึ่ง จากจุดนี้สามารถมองเห็นองค์พระสุภัทรบพิตรบนยอดเขากระโดงได้
     
      เขื่อนลำนางรอง ตั้งอยู่แยกจากอนุสาวรีย์เราสู้ไป 200 เมตร เป็นพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงตามพระราชดำริ เขื่อนลำนางรองเป็นเขื่อนดิน มีถนนลาดยางบนสันเขื่อนสำหรับชมทัศนียภาพ และมีร้านอาหารที่ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำ นอกจากเขื่อนนี้จะเก็บน้ำไว้ใช้ในด้านการเกษตรแล้ว ยังได้รับการปรับปรุงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีบ้านพักรับรอง ห้องประชุม และค่ายพักแรม ติดต่อสำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง ซึ่งอยู่ก่อนถึงสันเขื่อนในเวลาราชการ โทร. 0 4460 6336 ในบริเวณเดียวกันยังมีโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป (ดอยคำ) ผลิตผักผลไม้กระป๋องอาทิ ข้าวโพดอ่อน หน่อไม้ และน้ำมะเขือเทศ


     อ่างเก็บน้ำทุ่งแหลม ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 24 ห่างจากอำเภอนางรอง 4 กิโลเมตร ระหว่างทางไปปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เป็นจุดแวะพักริมทาง มีศาลาริมน้ำรับลมเย็นสบาย และในฤดูแล้งมีฝูงนกเป็ดน้ำจำนวนมากมายอาศัยอยู่ที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ด้วย




      อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญ คือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร (คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ภูเขาใหญ่”) ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น 


     ปราสาทหินเมืองต่ำ ตั้งอยู่ที่ตำบลจระเข้มาก ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้ง 8 กิโลเมตร เส้นทางลาดยางตลอด เป็นปราสาทขอมที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามโดดเด่นน่าชมอีกแห่งหนึ่งของบุรีรัมย์
ประวัติความเป็นมาของปราสาทเมืองต่ำยังไม่ทราบชัด เพราะไม่พบหลักฐานที่แน่นอนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด หรือใครเป็นผู้สร้าง มีลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวน ซึ่งมีอายุอยู่ในราว พ.ศ. 1550-1625 โดยมีลักษณะของศิลปะขอมแบบคลัง ซึ่งมีอายุราว พ.ศ. 1508-1555 ปะปนอยู่ด้วย ภาพสลักส่วนใหญ่เป็นภาพเทพในศาสนาฮินดู จึงอาจกล่าวได้ว่า ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-17 เพื่อใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู 

 

     ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ ตั้งอยู่ภายในสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ถนนจิระ เป็นสถานที่รวบรวมจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุอันมีค่าทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจ และเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัย นิทรรศการที่จัดแสดงมีหลากหลายหัวข้อ อาทิ นิทรรศการเกี่ยวกับช้าง ชาวส่วย ผ้าพื้นเมือง จิตรกรรมฝาผนัง เครื่องถ้วยและเตาเผาโบราณ วิถีชีวิตชาวอีสาน สภาพภูมิศาสตร์ ชุมชนโบราณของบุรีรัมย์

 

     อนุสาวรีย์เราสู้ อยู่ที่อำเภอโนนดินแดง ริมทางสายละหานทราย-ตาพระยา (ทางหลวงหมายเลข 348) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของประชาชน ตำรวจ ทหาร ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้ผู้ก่อการร้าย ที่ขัดขวางการสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์สายนี้ 

 

    พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางสมาธิขนาดหน้าตัก 1.6 เมตร สูง 2 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง มีลักษณะของศิลปะพื้นเมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดหงษ์ หรือวัดศีรษะแรด เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบพระพิมพ์รูปใบขนุน “รวมปาง” สำริด และพระพุทธรูปแกะสลักจากนอแรดที่ใต้ฐาน พระเจ้าใหญ่ด้วย ในวันขึ้น 14 ค่ำ หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะจัดงานเฉลิมฉลองขึ้น โดยมีชาวอำเภอพุทไธสง และจังหวัดต่างๆ ไปนมัสการกราบไหว้เป็นจำนวนมาก

 

     วัดเขาอังคาร ตั้งอยู่บนเขาอังคารซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว อยู่ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้งไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร จากบุรีรัมย์ใช้เส้นทางสาย บุรีรัมย์-นางรอง-บ้านตะโก-บ้านตาเป็ก (ทางเดียวกับไปปราสาทหินพนมรุ้ง) เมื่อเดินทางถึงบ้านตาเป็ก เลี้ยวขวาตามทางไปอำเภอละหานทรายประมาณ 13 กิโลเมตร จะพบทางแยกขวาไปวัดเขาอังคารอีก 7 กิโลเมตร ภายในบริเวณวัดเคยมีการค้นพบโบราณสถานเก่าแก่ และใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีหลายชิ้น ปัจจุบันเป็นวัดที่สวยงามใหญ่โตแห่งหนึ่งของบุรีรัมย์ มีการก่อสร้างโบสถ์ ศาลาและอาคารต่างๆ เลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบ ภายในโบสถ์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น